แพท เคลียร์ดราม่าติดโควิดทิพย์
แพท ณปภา ควงลูกชาย น้องเรซซิ่ง ไขข้อสงสัยติดโควิดทิพย์ ผลตรวจไม่ตรงกัน หวั่นสายตาสังคม ลงทุนตรวจหลายรอบ เสีย 30,000 ทราบผลแน่ชัด
แพท ณปภา คุณแม่สุดสตรองควงลูกชาย น้องเรซซิ่ง เปิดใจครั้งแรก ไขข้อสงสัยติดโควิด-19 พร้อมเผยชีวิตสุดป่วน เลี้ยงลูกยุคโควิด ในรายการ “คุยแซ่บSHOW” ที่มี “พีเค” ปิยะวัฒน์ และ บูม สุภาพร เป็นพิธีกรดำเนินรายการ
เคลียร์ข่าวติดหรือไม่ติดโควิด? แพท : “จำได้ว่าวันนั้นวันที่ 19 แพทมีสวอป 2 ที่ ที่แรกตอน 11.20 น. เป็น Rapid Test ซึ่งเราไม่ได้ติดเชื้ออะไรก็ยังทำงานปกติ แล้วอีกที่ตอนบ่าย 3 กว่า ต้องไปทำเป็น PCR เพราะทางลูกค้าต้องการผลที่เป็น PCR Test ซึ่งผลที่ออกมาตอนเที่ยงครึ่งของวันอังคารคือวันที่ 20 ผลออกมาเที่ยงครึ่ง เขาบอกว่า คุณแพทติดเชื้อ คือตอนนั้นเรากำลังจะเข้ารายการเลยอีกรายการหนึ่ง เราก็โกยของทุกอย่างขึ้นรถแล้วก็ตั้งสติ
ตอนนั้นไม่ได้กลัวว่าตัวเองจะเป็นอะไร กลัวเพื่อนร่วมงานเพราะเราทำงานเยอะ เจอคนเยอะ เพราะฉะนั้นถ้าเราติดปุ๊บ แพทนับดูแล้วมีคนต้องเดือดร้อนเพราะเราอย่างต่ำ 30 คน ตอนนั้นคิดอยู่ในใจ เรายังไม่ชัวร์ เราอยากจะสวอปอีกครั้ง
แต่ที่เรากังวลคือลูกเรา เลขาเราล่ะ ติดหรือเปล่า เพราะตอนที่เราสวอปเราทำคนเดียว แล้วเขาอยู่ใกล้ชิดเราตลอด 24 ชั่วโมง เราอยากรู้ผลของลูกเราจะทำอย่างไร ก็เลยขับไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดแล้วบอกเขาว่า เราเป็นโควิด เราอยากรู้ว่าลูกและเลขาเราเขาติดไหม ทำให้วันอังคารเลยได้ไปทำสวอปอีกครั้งตอนบ่ายโมง แล้วยังคิดว่าเราจะเก็บผลอันนี้ไว้ก่อนไหม แพทยังคุยกับบูมอยู่เลย”
บูม : “ต้องบอกก่อนว่าตอนนั้น แพทตอนทราบผลจากไปสวอป PCR ยังไม่ได้ไปโรงพยาบาลนะ แพทก็ยังโทรมาแจ้งบูมว่าติดโควิด เราก็คิดว่าเราอาจจะติดโควิด เพราะเราทำงานร่วมกัน แล้วก่อนหน้านั้นบังเอิญว่าเข้าไปนั่งเม้าธ์ในรถ แล้วไม่ได้ใส่แมส ก็เลยคิดว่าถ้าแพทติดเราก็คงติดแหละ”
แล้วเกิดอะไรขึ้น? แพท : “ตอนนั้นแพทคิดว่าเราควรจะโพสต์ผลเลยไหม เพราะมันมีผลเยอะ คือถ้าโพสต์บอกไปว่าเราติด แล้วถ้าไปตรวจอีกทีแล้วไม่ติดล่ะ จะทำอย่างไร แต่เราก็คิดว่าระหว่างที่เรากำลังรอผลตรวจรอบ 2 คนที่เคยใกล้ชิดเราเขาจะไปไหนมาไหนมาบ้าง เราก็เลยตัดสินใจโพสต์ไปก่อน อย่างน้อยคนที่อยู่รอบข้างแพทจะได้เตรียมตัวกักตัว แล้วถ้าคนใกล้ชิดมีแม่ อย่างบูมมีคุณแม่ซึ่งแม่เขาก็ไม่ค่อยแข็งแรง เราก็จะเป็นห่วงมาก เขาจะได้กักตัวจากแม่เขา หรือคนอื่นๆ ที่มีลูกเล็ก มีผู้ป่วย มีคนแก่ ถ้าเขาอยู่ใกล้แพทเขาจะได้รู้ว่าเขาควรจะเฟดออกมาก่อน”
แล้วช็อตที่เสียน้ำตาบนรถคือตอนไหน? แพท : “คือตอนนั้นเรายังไม่รู้ผลครั้งที่ 2 เราก็คิดว่าเราติด พอเราคิดว่าเราติด มันก็เข้าสู่กระบวนการของการรักษา แพทไม่รู้ว่ามันจะจบที่ 14 วัน 15 วันหรือ 30 วัน เราก็คิดว่าแล้วใครจะดูแม่เรา ถามว่ามีคนดูไหม แพทพูดตรงๆ ว่ามี แต่เราอยากเป็นคนทำเอง พอเราจะต้องไปฝากคนอื่น แพทก็จะต้องไปเพิ่มภาระให้กับคนอื่นโดยที่ไม่มีกำหนดว่าจะ 10 วันไหมหรือ 15 วัน คือผู้ป่วยติดเตียงของบ้านแพทไม่ได้มีแค่คุณแม่ แพทมีติดเตียง 2 คน แล้วแม่บ้านจะเป็นคนทำทุกอย่าง”
บูม : “คือบ้านแพทเขามี 2 ฝั่งแล้วแม่บ้านต้องวิ่งไปวิ่งมา ก็อาจจะเหนื่อยนิดหนึ่ง แล้วถ้าแพทติดแม่บ้านก็ต้องกักตัว แล้วใครจะดูแลคุณแม่ต่อ”
แพท : “แพทโทรหาน้อง แล้วก็บอกเขาว่าขอโทษนะ เหนื่อยหน่อยนะช่วงนี้ แพทอาจจะไปช่วยไม่ได้”
ลูกชายรู้เรื่องไหม? แพท : “เขาเห็นน้ำตาแม่ แล้วพี่เอ๋ยเลยบอกให้ปลอบแม่ เขาก็คงเก้ๆ กังๆ เขาตบไหล่ลูบหลังแม่บอกว่าไม่เป็นไรนะ”
เขาเข้าใจไหมว่าโควิดคืออะไร? แพท : “เขารู้แค่ว่ามันน่ากลัว แพทว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เขาเข้าใจโควิดมากขึ้น ถามว่าเรซซิ่งเขางงไหม เขางง แต่เขายังไม่รู้ เขารู้สึกตัวอีกทีคือตอนเขาเข้านอนโดยไม่มีแม่ นั่นแหละน้ำตาถึงจะไหล”
ตอนนั้นเห็นลูกร้องไห้ไหม? แพท : “เห็น แต่เราจะไม่พยายามวีดีโอคอล เราก็กลัวร้องไห้ เราไม่อยากร้องไห้ให้ลูกเห็น เราก็เลยพยายามคุยว่าเรซเป็นอะไร กินข้าวด้วยนะ แล้วก็วาง ส่วนคนที่แพทวิดีโอคอลคุยด้วยบ่อยที่สุดคือคุณบูม นางก็วิตก ก็คอลหากันตลอด ว่าผลออกหรือยัง เป็นอย่างไรบ้าง”
บูม : “เราก็อยากรู้อาการเพื่อน เพราะถือว่าเป็นคนที่ใกล้ชิดมากๆ ก็บอกให้เขาคอยสังเกตุอาการตัวเอง เรียกว่าคอยช่วยเขาจัดระเบียบความคิดดีกว่า ลูกแพทจะให้ใครดูแล แล้วลูกจะอยู่อย่างไร แล้วต่อไปเขาต้องมีตรวจอย่างอื่น แพทมีเตรียมพร้อมอะไรบ้างหรือเปล่า เราก็จะคอยบอก”
นั่นคือคืนแรกใช่ไหมที่ไม่ได้นอนกับลูก? แพท : “ใช่ แพทไม่เคยไม่นอนกับลูก แพทต้องส่งเขาให้ไปอยู่กับคุณตา เราก็คิดถึงลูก คือแพทไม่มีอาการ เราก็สงสัยว่าไม่มีอาการแบบนี้เราต้องอยู่อีกนานแค่ไหน แล้วลูกเราจะโอเคไหมถ้าคนอื่นจะต้องเลี้ยงนานๆ แพทเข้าใจเลยว่า มันเป็นอะไรที่ไม่รู้จะทำอย่างไร
แพทเข้าใจว่าหลายคนอาจจะคิดว่าทำไมแพทถึงตรวจเยอะ จริงๆ แล้วแพทไม่ได้อยากตรวจเยอะนะ เพราะแพทเสียตังค์เอง คือครั้งแรกที่ตรวจเนื่องจากว่างานให้ตรวจ พอไปตรวจที่โรงพยาบาล เขาก็บอกว่าต้องตรวจทั้ง 3 คนเพื่อที่จะเข้าระบบการรอเตียง เพราะตอนนี้คุณไปตรวจแลปมาใช้ผลอันนี้ไม่ได้ ต้องไปตรวจใหม่ แล้วระหว่างรอผลเราเครียดเราก็เลยโทรไปหาอีกโรงพยาบาลหนึ่ง ไปตรวจอีก ปรากฎว่ารอผล จริงๆ แล้ววันอังคารผลมันออกมาแล้ว ว่าไม่เป็น
แต่ที่เรายังไม่ได้โพสต์เพราะคุณหมอขออนุญาตยังไม่ไห้โพสต์ผลอันนี้ เพราะคุณหมอมองว่าคุณมาด้วยเหตุผลว่าคุณติด ทำไมโรงพยาบาลฉันตรวจแล้วคุณไม่ติด คุณหมอบอกว่าถ้าคุณแพทต้องการใช้ผลเพื่อเป็นการยืนยัน ผลแค่สวอปอาจจะไม่พอ อาจจะต้องขอสวอปใหม่ อาจจะต้องตรวจเลือดตรวจภูมิ ตรวจปอด เพราะถ้าไม่เป็น คุณแพทก็จำเป็นที่จะต้องใช้ผลพวกนี้มายืนยันอีกว่าทำไมถึงไม่เป็น ไม่ใช่แค่เราจะออกมาพูดว่าไปตรวจอีกที่แล้วไม่เป็น เพราะคนอื่นก็ต้องมีคำถามว่าทำไมเราเชื่อที่นี่ ทำไมเราไม่เชื่ออันแรก เราก็เลยต้องพิสูจน์ด้วยการขอสวอปใหม่ โดยการตรวจเลือดว่าค่าเลือดเราเป็นอย่างไร เพราะค่าเลือดที่เขาเรียกกันว่า IGA IGM มันไม่เป็นโพสซิทีฟ หมายความว่าเราไม่ได้ติดเชื้อเลือดเราไม่ได้รู้กับโรคมันก็เลยไม่ขึ้นเป็นโพสซิทีฟ และอีกอย่างหนึ่ง ภูมิแพทไม่ขึ้น ตอนนั้นเราก็เริ่มใจชื้นว่าน่าจะมีข้อผิดพลาด
คือผลออกมาแล้วแล้วโรงพยาบาลอีก 2 แห่งที่เราไปตรวจมันอันดีเทคทั้งคู่ เราก็คิดว่าแล้วเราจะตอบสังคมอย่างไร เพราะค่าเลือดก็ไม่ขึ้น ภูมิก็ไม่ขึ้น ปอดก็ไม่ขึ้น แปลว่าไม่เคยติดเชื้อ เราก็เลยเอาผลนี้มาลง ส่วนที่แรกที่เขาตรวจเราเขาบอกให้เราไปตรวจซ้ำ ซึ่งเราเพิ่งจะตรวจ 2 ที่นี้ เรารู้สึกว่าค่าตรวจมันก็หนักอยู่ ซึ่งคุณหมอก็บอกว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้เพราะโรงพยาบาลก็มีคนตรวจเยอะ การตรวจแลปมันถูกกว่า เพราะฉะนั้นการรองรับ มันอาจจะมีข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เพราะอันที่แพทโพสต์ค่า CP มันก็ไม่เยอะ”
ระหว่างโควิดกับสายตาสังคม อะไรน่ากลัวกว่ากัน? แพท : “สายตาสังคม เพราะเราไม่ได้เป็นอะไรเลย แต่เราต้องเสียเงินตรวจแล้วตรวจอีก ตรวจแล้วตรวจอีกเพื่อเอามาตอบสังคม มาตอบว่าทำไมถึงไม่เป็น ทั้งๆ ที่ตอนแรกบอกว่าเป็น นี่แค่ค่าตรวจอย่างเดียวเสียไป 30,000 บาทแล้ว พูดเลยว่าแพทก็ไม่อยากเสียตังค์ ถามว่าอยากตรวจไหม คือถ้าไม่ติดว่าจะส่งผลกระทบกับใครๆ แล้วทุกคนก็จับจ้อง แล้วเราต้องมานั่งคำถามเรื่องนี้ เราก็เลยต้องลงทุนกับมัน เพื่อให้ได้คำตอบที่แน่ชัด”
พอไม่ติดแบบนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่าทำไมไม่กักตัว? แพท : “ไม่ต้อง หมอไม่ได้บอกว่าให้แพทกักตัว ที่แพทหยุดไปตั้งแต่วันอังคารเพราะแพทแคนเซิลงานไปหมดแล้วถึงวันอาทิตย์ พอเราไม่เป็นจะโทรไปของานคืนก็คงไม่ได้ คือคนที่ต้องกักตัว คือกลุ่มเสี่ยงและกำลังจะหาย หรือหายแล้วต้องมากักตัวต่อ แต่แพทไม่เคยติดเลย แพทก็เลยไม่เข้าใจว่าไม่ติดแล้วทำไมต้องกัก”
สมมติถ้าติดโควิดขึ้นมาเงินที่บ้านพอไหม? แพท : “พอ แต่ก็ไม่ได้มากมาย เพราะถ้ามีพอขนาดนั้นเราคงไม่ต้องทำงาน ทุกวันนี้ยังต้องตะเกียกตะกายออกมาทำงาน วันไหนไม่ออกมาทำงานแปลว่าเราไม่มีรายได้ในวันนั้น จะบอกว่าออกมาหาเช้ากินค่ำ มันก็ผิด การที่เราไม่ทำงานแปลว่าวันนั้นไม่มีเงินเข้าบัญชีแน่นอน แล้วแพทไม่ได้มีอาชีพอื่น แพทใช้อาชีพนี้ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว
เพราะฉะนั้น การที่แพทหยุดงานมันส่งผลกระทบอยู่แล้ว เพราะแพทมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ของเจ้าตัวเล็ก ค่ายา ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ในแต่ละเดือนค่าใช้จ่ายในบ้านต้อง 3 แสนเป็นอย่างต่ำ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้ที่เราออกมา เราเสี่ยงอยู่แล้ว เราไม่ต้องโทษใคร ถ้าไม่อยากติดก็ไม่ต้องออกมาทำงาน เพราะถ้าจะทำงานเราต้องยอมรับกับความเสี่ยงนั้นให้ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราติดแล้วเราไม่ต้องถามหาเลยว่าคนผิด ติดก็คือติด ถ้าไม่ติดก็หยุดอยู่บ้าน”
ช่วงโควิดแบบนี้กระทบเยอะไหม? แพท : “ก็ครึ่งๆ เห็นอย่างนี้ถือว่าเราโชคดีนะที่เรามีงานประจำ มีงานในสายพิธีกรที่ต้องรันต้องออนทุกวัน แต่งานสายอื่นๆ ล่ะ อย่างงานอีเว้นท์ ไลฟ์เองก็ยังไม่ค่อยจะมีเลย อย่างงานรีวิวสินค้าในเศรษฐกิจแบบนี้ก็ขายยาก บางที่เจ้าของเขาก็ขายเองไม่จ้างเรา เรื่องค่าตัวทุกที่ต่อรองหมด ซึ่งเราเข้าใจ เรารับหมด เราจะไปเอาเท่าเดิมได้อย่างไรในเมื่อทุกอย่างมันน้อยลง ถ้าอยากมีงานก็ต้องสู้”
โควิดแบบนี้ทำไมยังเอาลูกไปทุกที่? แพท : “ที่บ้านไม่มีใคร ต่อให้มีใครเรซก็ต้องอยู่กับเรา เพราะทุกคนก็มีหน้าที่ที่ต้องทำกันหมด แล้วอีกอย่างเรซเองก็โตมากแล้ว 4 ขวบกว่าแล้ว เราคุยกับลูกเรารู้เรื่องแล้วว่าต้องทำอย่างไรบ้าง วีธีการที่จะเอาเขาออกมา เราก็ต้องสอนเขาบอกเขาว่าต้องใส่แมสตลอดนะลูก แล้วก็ล้างมือบ่อยๆ ซึ่งแพทก็อยู่กับเขาและก็มีพี่เอ๋ยคอยประกบเขา เขาอยู่ในสายตาเรา อยู่ด้วยกัน คุยกัน ถามว่ากลัวไหม ก็กลัว แต่ตอนนี้ทุกคนก็เข้าใจสถานการณ์ก็ไม่ค่อยอะไรกับน้องเขาเยอะ แล้วน้องเขาก็อยู่กับเรา ถ้าเราอยู่สตูเขาก็จะรอในรถ หรือไม่ก็จะติดอยู่กับพี่เอ๋ย”
แล้วเรื่องโรงเรียนของลูก? แพท : “อย่างที่ทราบพอมาเจอวิกฤตแบบนี้ ปกติเขาอยู่โรงเรียนเขาก็ไม่ค่อยจะเอาอะไรอยู่แล้ว จะมาเรียนออนไลน์ แล้วมือถือแม่ก็จอเล็กๆ แล้วเวลาเขาเรียน เขาไม่ได้เรียนคนเดียว เราต้องมาเรียนกับเขา เพราะเขาไม่มีความสนใจ เขาได้แต่คุยกับครูในหน้าจอ
แพทคิดว่าเด็กวัยนี้ต้องเรียนตัวต่อตัว ต้องเรียนที่ครูสามารถคุยกับเขาได้ ถ้าเขาไม่สนใจเขาก็แค่ปิดมือถือลง แล้วแพทก็ทำงาน เช้า กลางวัน เย็น พอสามโมงแพทก็ต้องป้อนข้าวคุณแม่ แล้วบางทีแพทก็ต้องรีวิวสินค้า แพทก็เลยไม่รู้ว่าจะต้องมานั่งทำอย่างไร
จริงๆ แพทเสียตังค์ก็ควรให้ลูกไปโรงเรียน แต่เมื่อมันทำไม่ได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้โรงเรียนจะเปิด คุณพ่อคุณแม่กล้าส่งลูกไปโรงเรียนไหม ก็ไม่กล้า ตอนนี้ก็ทำอะไรไม่ได้ แพทก็เลยบอกว่าไม่เป็นไรเรซ เดี๋ยวมันจะมีทางของหนู วันนี้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เอาที่หนูถนัด คือแพทวัดจากตัวแพท แพทเรียนวิทย์คณิตมา จบม.6 มาด้วยเกรดเฉลี่ย 3.7 มันควรจะไปทางหมอทางอะไร แต่สุดท้ายเราก็มาทางนี้ แล้วทางนั้นที่เราเรียนในสมัยนั้น พ่อแม่อยากให้เรียนเพราะคิดว่าเราไปได้ แต่พอมาวันหนึ่งที่เราเลือกเองได้ เราก็ไม่ได้เลือกทางนั้น เราเลือกทางนี้อยู่ดี แล้ววันหนึ่งเขาก็คงต้องเลือกว่าเขาถนัดอะไร”